การค้าตุ๊กแกบ้านตากแห้ง
ปัจจุบันตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) เป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย มีการส่งออกตุ๊กแกบ้านมีชีวิตและตุ๊กแกบ้านตากแห้งไปยังประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา มานานกว่า 30 ปี
ตุ๊กแกบ้านมิได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และมิได้เป็นสัตว์ในบัญชี (Appendix) ท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna andFlora . CITES) ประเทศไทยจึงมิได้ห้ามหรือควบคุมปริมาณการส่งออกแต่อย่างใด
ประวัติการค้าตุ๊กแกบ้าน
มีการส่งออกตุ๊กแกบ้านตากแห้งไปยังต่างประเทศได้เริ่มมาตั้งแต่ประมาณปี 2513 แต่มิได้มีการบันทึกข้อมูลไว้ว่าปริมาณการผลิตและการส่งออก มีจำนวนมากน้อยเท่าไร จนกระทั่งประมาณปี 2527 การส่งออกต้องได้รับเอกสารรับรองจากกรมป่าไม้ (เดิม) จึงเริ่มมีข้อมูลปริมาณการส่งออก พบว่าในช่วงระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2527-2546) จำนวนตุ๊กแกบ้านตากแห้งมีจำนวน 1 ล้าน 1 แสนตัว ถึง 5 ล้าน 9 หมื่นตัวในแต่ละปี โดยในปี 2527-2533 ประเทศผู้นำเข้ามี 7 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 3 ประเทศ คือ ฮ่องกง ไต้หวัน และสาธารณรัฐประชาชนจีน
ผู้ริเริ่มการผลิตและส่งออกตุ๊กแกบ้านตากแห้งในประเทศไทย บุคคลผู้นั้น คือ นางสาวประภา แซ่อึ้ง ได้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2547 ณ บ้านพักในอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ว่าตนเองเป็นบุคคลแรกในประเทศไทยที่ริเริ่มการผลิตและส่งออกตุ๊กแกบ้านตากแห้งโดยมีสาเหตุมาจากการที่นางสาวประภา ซึ่งขณะนั้นดำเนินธุรกิจนำเข้าส่งออกสินค้าชนิดต่าง ๆ มีการติดต่อกับชาวต่างชาติในปี พ.ศ. 2513 ได้มีนักธุรกิจชาวฮ่องกงมาชักชวนให้ผลิตตุ๊กแกบ้านตากแห้ง โดยนำตัวอย่างตุ๊กแกบ้านตากแห้งที่ทำสำเร็จแล้วจากประเทศจีนมาเป็นตัวอย่าง
นางสาวประภา จึงได้นำตัวอย่างนั้นไปเป็นแบบ และฝึกให้ชาวบ้านในตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดราชบุรี ทดลองทำ และจับตุ๊กแกบ้านมีชีวิตจากกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง การผลิตตุ๊กแกบ้านตากแห้งในจังหวัดราชบุรีดำเนินอยู่ประมาณ 3 ปี ตุ๊กแกบ้านเริ่มไม่เพียงพอต่อการส่งออก พ.ศ. 2516 ถึง พ.ศ. 2519 ได้ย้ายโรงงานผลิตไปที่จังหวัดอุบลราชธานี
ในขณะเดียวกันได้มีโรงงานอีกแห่งหนึ่งที่จังหวัดสกลนคร ประมาณ ปี 2520 ได้ย้ายโรงงานผลิตมาอยู่ที่อำเภอเมืองจังหวัดสกลนคร เพียงแห่งเดียว พ.ศ. 2520 ถึง พ.ศ. 2532 นางสาวประภา ใช้รถบรรทุกวิ่งรับซื้อตุ๊กแกบ้านจากจังหวัดต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งจังหวัดอุบลราชธานี และบางส่วนมีผู้มาส่งขาย บางรายมาจากภาคเหนือ คือจังหวัดพะเยา ในแต่ละปีช่วงที่มีการผลิตตุ๊กแกบ้านตากแห้ง (กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม) ในแต่ละวัน โรงงานแห่งนี้จะรับซื้อตุ๊กแกบ้านมีชีวิตเป็นจำนวนหมื่นตัว ถ้าไม่สามารถผลิตได้ทันก็จะผ่าท้อง ควักไส้ล้างทำความสะอาดแล้วเก็บไว้ในห้องเย็น ซึ่งสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้นขนาดใหญ่ ชั้นบนสำหรับเก็บตุ๊กแกบ้านตากแห้ง และชั้นล่างสำหรับเก็บตุ๊กแกบ้านสด ในปี พ.ศ. 2533
อาคารห้องเย็นที่ น.ส.ประภา แซ่อึ้ง เคยเป็นที่เก็บซากตุ๊กแกบ้าน
นางสาวประภา ได้เลิกธุรกิจนี้ เนื่องจากมีภาระต้องดูแลมารดาซึ่งชราและป่วยอยู่ที่กรุงเทพฯ ในขณะเดียวกันบุคคลต่าง ๆ ที่เคยร่วมงานหรือมีธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและการค้าตุ๊กแกบ้านตากแห้ง ได้เข้ามาประกอบกิจการนี้ มีโรงงานในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่จังหวัดสกลนคร จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดขอนแก่น โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 – 2528 และมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น เรื่อย ๆ จนปัจจุบัน
แหล่งที่มาของตุ๊กแกบ้าน
ตุ๊กแกบ้านส่วนใหญ่ที่นำมาผลิตตุ๊กแกบ้านตากแห้ง มาจากการจับตุ๊กแกบ้านตามบ้านเรือนอาคารสิ่งก่อสร้าง และต้นไม้ที่อยู่ใกล้ๆ บ้าน การจับตุ๊กแกบ้าน
ลักษณะบ่วงไม้ที่ใช้คล้องจับตุ๊กแกบ้าน
การคล้องจับตุ๊กแกบ้านจากธรรมชาติ
จากการเพาะเลี้ยงจากการศึกษาพบว่าในบางพื้นที่มีการเพาะเลี้ยงตุ๊กแกบ้านในกรงเลี้ยงและมีการนำผลผลิตออกขายให้พ่อค้าที่มาเร่ซื้อบ้าง โดยมีพ่อค้าคนกลางจะขับรถเร่รับซื้อโดยตรงกับชาวบ้านที่จับหรืออาจมีพ่อค้าในท้องที่รวบรวมไว้ขายอีกทอดหนึ่ง ในประเทศไทยพบว่ามีการจับตุ๊กแกบ้านเฉพาะในภาคเหนือ(บางจังหวัด) และภาตะวันออกเฉียงเหนือ (ทุกจังหวัด) แต่ไม่มีการจับในภาคกลางและภาคใต้การผลิตตุ๊กแกบ้านตากแห้งในประเทศไทยมีแหล่งผลิตตุ๊กแกบ้านตากแห้งแหล่งใหญ่ๆ ประมาณ 3 แหล่ง ได้แก่ จังหวัดสกลนครจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดเชียงราย (สีฟ้า, 2548) โดยจะชำแหละตุ๊กแกบ้าน ผ่าท้อง นำอวัยวะภายในออกขึงแผ่โดยไม้ไผ่อบแห้งบรรจุกล่องส่งออกต่างประเทศ
ฤดูกาลการผลิตตุ๊กแกบ้านตากแห้ง
ในรอบ 1 ปี จะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผลิตตุ๊กแกบ้านตากแห้งเพียง 4 เดือน คือ เดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนพฤษภาคม โดยการเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ ฤดูกาลผลิตจะเริ่มเร็วหรือ ช้าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของอากาศ ถ้าอากาศเย็น (อุณหภูมิต่ำ) เกินไปตุ๊กแกจะไม่ออกมาหากิน การจับจะ ทำได้ยาก ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการผลิตตุ๊กแกบ้านตากแห้งในช่วงนี้เนื่องจากเหตุผลหลาย ๆ ประการ คือ
1. เป็นช่วงที่มีแรงงานที่ว่างจากการทำงานประจำ กล่าวคือ เป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา แรงงานเหล่านี้บางส่วนจะรับจ้างทำตุ๊กแกบ้านตากแห้ง และจับตุ๊กแกบ้านมีชีวิตขาย
2. เป็นช่วงเวลาปิดเทอม (ภาคปลาย) ของเด็กนักเรียน เด็กนักเรียนบางคนจะออกจับตุ๊กแกบ้าน เพื่อขายให้พ่อค้าเร่
3. เป็นเวลาที่ภูมิอากาศเหมาะสม อากาศร้อน มีฝนตกบ้างบางวัน แมลงชุกชุมตุ๊กแกบ้านจะออกจากที่ซ่อนออกมาหากินมากกว่าฤดูอื่น ๆ
0 Comments
แสดงความคิดเห็น